ทองหยอด
หมวด : อาหาร
ประวัติความเป็นมา

ทองหยอดเป็นขนมจากประเทศโปรตุเกสมีถิ่นกำเนิดจากเมืองอเวโรเป็นเมืองชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโปรตุเกส ทองหยอดเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยท้าวทองกีบม้าในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พุทธศักราช ๒๒๐๑ และได้ถ่ายทอดวิธีทำขนมให้กับคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน ขนมไทย “ทองหยอด” เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวตำบลบ้านกุ่ม ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนในชุมชนเมื่อประมาณ ๗๐ ปีที่ผ่านมา โดยได้รวบรวมบรรดาญาติๆ พี่ ป้า น้า อา ตั้งเป็นกลุ่มไปช่วยงาน ตามงานมงคลและงานประเพณีต่างๆ โดยทางกลุ่มจะมีความชำนาญในเรื่องของขนมไทยทุกชนิด โดยเฉพาะทองหยอดนับได้ว่าเป็นที่นิยมภายในหมู่บ้านและตำบลใกล้เคียงว่ามีความอร่อย สวยงาม คู่ควรกับงานมงคล จากนั้นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของบรรดาญาติๆ ก็ได้พัฒนาฝีมือและได้มอบวิชาความรู้ รวมถึงเทคนิคในการทำขนมไทยให้กับลูกหลานสืบต่อมา จนเมื่อในปี พุทธศักราช ๒๕๓๙ ได้มีเกษตรอำเภอเข้ามาให้ความรู้และจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านกุ่ม หมู่ ๙ ขึ้น จนถึงปัจจุบัน
อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

มีรูปทรงขนาดเล็กน่ารับประทาน
มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ


- สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
- ได้รับรางวัลที่ ๒ จากงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปี ๒๕๕๐
- หนังสือจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ปี ๒๕๔๘
ความสัมพันธ์กับชุมชน

ความสัมพันธ์กับชุมชน การรวมตัวเพื่อก่อตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกิดขึ้นจากความรัก สามัคคี ของคนในหมู่บ้าน ก่อให้เกิดความรู้ เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน สร้างพลังในชุมชน การรวมตัวเพื่อผลิตขนมไทยนอกจากจะทำให้เกิดความสามัคคียังทำให้เกิดรายได้ภายในครอบครัวด้วยอีกทางหนึ่ง
กระบวนการผลิต
วัตถุดิบและส่วนประกอบ

- ไข่เป็ดสดใหม่
- น้ำตาลทรายขาวละเอียด
- แป้งทองหยอดชนิดหอม
- น้ำสะอาด อุปกรณ์
- กระทะทอง
- กะละมังแสตนเลส
- หม้ออลูมิเนียมพร้อมฝา
- ทัพพีโปร่ง
- ผ้าขาวบาง
- สุ่มตีไข่
- ถาด
- เตาแก๊ส
- ทัพพี
- หม้อเคลือบ
ขั้นตอนการผลิต

๑. นำไข่ที่เตรียมไว้ล้างให้สะอาด
๒. แยกไข่แดงออกจากไข่ขาว
๓. นำไข่แดงที่ได้ตีให้ขึ้นฟู
๔. นำไข่แดงที่ขึ้นฟูแล้วมาผสมกับแป้งทองหยอด
๕. นำส่วนผสมมาหยอดลงในกระทะที่เตรียมน้ำเชื่อมไว้
๖. เมื่อทองหยอดสุกให้ตักขึ้นใส่ในน้ำเชื่อม(น้ำลอย) ที่เตรียมไว้ แล้วทิ้งไว้สักครู่ แล้วตักออกใส่ภาชนะที่ต้องการ
เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต
- ไข่ที่นำมาใช้ต้องเป็นไข่ที่สดและใหม่
- เมื่อทองหยอดสุก ให้ตักทองหยอดลงไปแช่ในน้ำลอย แล้วรีบตักขึ้น จะทำให้ทองหยอดมีรูปทรงที่สวยงาม และมีความหวานที่พอดี (หวานน้อย)
วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร
ประธานกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ นางสำออย นัยจิตร์
ที่อยู่ 103/2 ม.9 ตำบลกบเจา อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เบอร์โทรศัพท์ 081-2947443
แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์
๑. จำหน่ายที่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านกุ่ม หมู่ที่ ๙ ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอบางบาล
๒. จำหน่ายที่ตลาดนัดชุมชนตำบลบ้านกุ่ม ทุกวันอาทิตย์
๓. จำหน่ายตามงานมงคล และงานประเพณีต่างๆ
๔. จำหน่ายในงานที่ส่วนราชการจัดขึ้น