น้ำปลาบ้านโคกห้วย
หมวด : อาหาร
ประวัติความเป็นมา

ตั้งแต่อดีต มาจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ของหมู่บ้านโคกห้วยและพื้นที่โดยรอบของหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบลุ่มคือ มีลักษณะคล้ายท้องกระทะ ทำให้ในช่วงฤดูน้ำหลาก (ช่วงประมาณเดือนตุลาคม – เดือนธันวาคม) น้ำจะท่วมเกือบทุกปี จึงทำให้มีพันธุ์ปลาน้ำจืดต่าง ๆ จำนวนมากมารวมตัวกัน เช่น ปลาซิว ปลาสร้อย ฯลฯ พอถึงในช่วงฤดูน้ำลด ปลาเล็กปลาน้อยก็จะตกค้างอยู่ตามท้องทุ่งนาและในลำห้วย ลำคลองเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงมองเห็นว่าปลาที่ติดค้างอยู่นี้น่าจะนำมาเป็นประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น นำปลามาย่างตากแห้ง หรือใส่เกลือทำปลาเค็ม หรือนำมาหมักทำปลาร้า ปลาจ่อม เก็บไว้กินได้นานยามหน้าแล้ง จึงร่วมกันคิดที่จะลองทำเป็นน้ำปลาเก็บไว้กินเอง ด้วยภูมิปัญญาง่าย ๆ ของคนสมัยก่อนนี้เอง จึงได้คิดริเริ่มทำน้ำปลาด้วยการนำมาคลุกเคล้ากับเกลือให้เข้ากัน (ปลา 5 ส่วน เกลือ 2 ส่วน) แล้วนำไปใส่ในไหหรือโอ่งแล้วปิดฝาไห/โอ่ง กันไม่ให้แมลงเข้าไปหยอดไข่เพราะเดี๋ยวจะทำให้เกิดเป็นหนอน ตั้งตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 8-12 เดือน ถ้าเป็นไหขนาดจะเล็กกว่าโอ่ง ก็จะนำไหมาแขวนทำให้โตงเตง ให้ฝาคว่ำลงตามที่เคยประสบพบเห็นมา บางครั้งก็จะเห็นชาวบ้านนำฟางข้าวมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ใส่ในปากไหให้แน่น ๆ เพื่อเวลาคว่ำไหลงมา ฟางก็จะกั้นกากน้ำปลามิให้ไหลออกไปกับน้ำปลา แต่ในสมัยนี้จะเห็นใช้ผ้าขาวดิบมาผูกปิดกับปากไห น้ำปลาที่ได้จึงมีลักษณะ ใส ๆ เก็บใส่ขวดไว้กินต่อ ๆ ไป หรือถ้าหมักไว้ในโอ่งใบใหญ่ ๆ ก็จะนำน้ำปลาดิบที่ได้มากรองโดยใส่ถุงผ้าดิบ แขวนทำให้โตงเตงห้อยให้น้ำปลาหยดลงในภาชนะที่รองรับไว้ น้ำปลาที่กรองได้ก็นำมากินต่อไป
อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
วิธีการหมักคือ การตั้งตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 8-12 เดือน ด้วยวิธีหมักธรรมชาติ ไม่ใช่วัตถุกันเสีย ไม่ได้ใช้เครื่องจักรกลในขั้นตอนการผลิต

มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับได้รับเครื่องหมายอาหารและยา (อย.)
ความสัมพันธ์กับชุมชน

สมาชิกในชุมชนมีการรวมตัวกัน สามารถมองเห็นประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาทำเป็นน้ำปลา รู้จักวิธีและขั้นตอนในการผลิตน้ำปลาไว้สำหรับบริโภค เพื่อลดรายจ่าย / เพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนตนเอง และสามารถนำออกมาจำหน่ายภายในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง
กระบวนการผลิต
วัสดุ/อุปกรณ์
1. อาคาร ป้องกันถังหมัก ไม่ให้ถูกน้ำฝน หรือใช้เป็นที่เก็บเกลือ
2. ถังหมักปลา (โอ่ง และ ไห)
3. เตา มีเตาต้มกากปลา ซึ่งเป็นเตาธรรมดาใช้กะทะใบบัวและใช้ฟืนหรือแกลบเป็นเชื้อเพลิง
4. เครื่องกรอง ส่วนมากใช้กากปลากรองโดยให้น้ำไหลผ่านกากปลาช้าๆ ครั้งหนึ่งก่อน แล้วจึงจะให้ไหลผ่านโอ่งหรือไหอีกครั้งหนึ่ง ปกติการกรองจะกรองทุก 3-6 เดือน
5. เกลือ/น้ำตาล
6. ขวดสำหรับบรรจุ และ ปิดฉลาก /เครื่องหมาย อย.
ปลาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ทำน้ำปลามีอยู่ด้วยกันหลายชนิด
1. ปลาซิว
2. ปลาสร้อย
3. ปลาเบญจพรรณ
ปลาทั้งสามชนิดนี้ นับว่าเป็นปลาน้ำจืดที่ให้น้ำปลาที่มีคุณภาพดี เพราะปลาน้ำจืดเป็นปลาที่มีไขมันน้อย เมื่อทำน้ำปลาจะได้น้ำปลาที่มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน และราคาปลาทั้ง 3 ประเภทนี้ก็มีราคาไม่แพงกว่าอย่างอื่นๆ หาง่ายทั้งในท้องถิ่นและแหล่งอื่น ๆ นอกจากปลาแล้ววัตถุดิบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เกลือ เกลือที่ใช้ทำน้ำปลาส่วนมากคือ เกลือทะเล
ขั้นตอนการผลิต
วิธีการผลิตมีขั้นตอนในการทำดังนี้.
1.นำปลาสร้อยมาผ่าท้อง ควักไส้ออกแล้วล้างให้สะอาด
2.นำปลามาคลุกเคล้ากับเกลือในอัตราปลา 5 ส่วน เกลือ 2 ส่วน
3.นำมาหมักใส่โอ่ง ปิดฝาให้สนิทแล้วตั้งตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 8-12 เดือน
4.หลังจากที่หมักได้ที่แล้ว นำน้ำปลาดิบมากรองด้วยผ้าขาวบาง หรือเครื่องกรอง (ถ้ามี) จึงนำน้ำปลาที่ได้มาบรรจุใส่ขวด พร้อมเก็บไว้บริโภคหรือจำหน่าย 1.นำปลาสร้อยมาผ่าท้อง ควักไส้ออกแล้วล้างให้สะอาด 2.นำปลามาคลุกเคล้ากับเกลือในอัตราปลา 5 ส่วน เกลือ 2 ส่วน 3.นำมาหมักใส่โอ่ง ปิดฝาให้สนิทแล้วตั้งตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 8-12 เดือน 4.หลังจากที่หมักได้ที่แล้ว นำน้ำปลาดิบมากรองด้วยผ้าขาวบาง หรือเครื่องกรอง (ถ้ามี) จึงนำน้ำปลาที่ได้มาบรรจุใส่ขวด พร้อมเก็บไว้บริโภคหรือจำหน่าย
เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต
1.ใช้วัตถุดิบจากแหล่งธรรมชาติ
2.วิธีการหมักใช้วิธีทางธรรมชาติโดยการตั้งตากแดด
3.ไม่ใช้วัตถุกันเสียหรือสารเคมีใด ๆ
น้ำปลาบ้านโคกห้วย
ที่อยู่ 7 ตำบลเทพมงคล อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา