“มะม่วงกวนส้มลิ้ม”
หมวด : อาหาร
ผลิตภัณฑ์
ประวัติความเป็นมา

ในฤดูกาลที่ต้นมะม่วงออกผลมาจำนวนมากเกินกว่าที่จะบริโภคผลสดได้หมด เริ่มจะมีมะม่วงสุกร่วงหล่นจากต้นมาก ไม่น่าใช้รับประทานผลไม้สดได้ วิธีดั้งเดิมของชาวบ้านก็มักจะนำมะม่วงสุกเหล่านี้มาทำ “ส้มแผ่น” ที่รสชาติอร่อยออกหวานอมเปรี้ยวเพื่อเก็บไว้กินได้อีกนาน หากปีไหนทำส้มแผ่นกันมากเกินเก็บ ก็จะเอามาขายบ้าง
ประมาณปี พ.ศ. 2540 คุณสมบัติ คงเจริญ ซึ่งเป็นผู้นำสตรีอาสาเป็นผู้ริเริ่มและรวมกลุ่มสตรีในหมู่บ้าน เกิดความคิดที่จะนำส้มแผ่นซึ่งเป็นผลผลิตของชาวบ้านมาเป็นสินค้าหลักและมีเป้าหมายที่จะทำให้ ชื่อ “ส้มแผ่น” เป็นสินค้าของฝาก จากอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปเหมือนกับขนมหม้อแกงของฝากจากเพชรบุรี ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคได้เลือกซื้อเป็นของฝากเสมอแรกเริ่มนั้นได้รับซื้อส้มแผ่นจากชาวบ้านมาบรรจุใหม่ จากที่ใส่ถุงธรรมดามาเป็นแผ่นกลมบ้างพับครึ่งบ้าง มาทำม้วนเป็นแท่งกลมแล้วใส่กล่องพลาสติกใส แล้วทดลองขายตามตลาดนัดบ้าง ตามสถานที่ราชการบ้าง และจังหวัดใกล้เคียง แล้วขยายมาขายถึงกรุงเทพฯด้วย แต่ชื่อ “ส้มแผ่น” ซึ่งหมายถึงแผ่นมะม่วงกวนที่มี รสเปรี้ยว คำว่า “ส้ม” แปลว่า รสเปรี้ยว นั้น คนในบางท้องถิ่นไม่รู้ว่าส้มแผ่นทำจากอะไรแน่ระหว่าง ส้มกับมะม่วง จึงต้องเปลี่ยนชื่อสินค้าใหม่ที่จดจำง่ายขึ้นว่า “มะม่วงกวนส้มลิ้ม” นอกจากปรับปรุงรูปลักษณ์ภายนอกให้เป็นเอกลักษณ์ ของ “มะม่วงกวนส้มลิ้มแล้ว” เรื่องรสชาติ ของมะม่วงกวนก็เป็น สิ่งสำคัญด้วย จากเดิมมะม่วงกวนของชาวบ้านที่ใช้มะม่วงสุกหล่นจากต้นมากวน จะใช้มะม่วงล้วนไม่ปน ผลไม้อย่างอื่น แต่มะม่วงที่ใช้ก็มาจากหลายต้นหลายพันธุ์ จึงทำให้มะม่วงแผ่นที่ได้รสชาติหวานอมเปรี้ยว และสีของมะม่วงกวนเมื่อเก็บไว้นานก็จะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำลงได้ง่าย จึงเลือกใช้มะม่วงดิบและมะม่วงสุก ทำให้ “มะม่วงกวนส้มลิ้ม” มีรสเปรี้ยวอมหวาน และสีของแผ่นมะม่วงกวนก็เป็นสีเหลืองทองไม่ดำง่าย จากการส่งเสริมอาชีพชาวบ้านทำให้เรามี “มะม่วงกวนส้มลิ้ม” ไว้ขายตลอดปีอีกด้วย อีกสิ่งที่เราให้ความสำคัญไม่ต่างไปจากบรรจุภัณฑ์ และรสชาติ ก็คือความสะอาดทุกขั้นตอนของการกวน
อัตลักษณ์(เอกลักษณ์)/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ

1. ปี 2547 กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เข้าคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย
ประเภท 1 (อาหาร) ได้ระดับ 3 ดาว
2. ปี 2549 กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เข้าคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย
ประเภท 1 (อาหาร) ได้ระดับ 1 ดาว
3. ปี 2552 กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เข้าคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย
ประเภท 1 (อาหาร) ได้ระดับ 2 ดาว
ความสัมพันธ์กับชุมชน

กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นกลุ่มที่พัฒนาภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนมาเป็นสินค้า สร้างรายได้ให้ชุมชน เน้นวัตถุดิบภายในชุมชน เช่น มะม่วงดิบ มะม่วงสุก ซึ่งสามารถหาได้จากในท้องถิ่น
คนในชุมชนปลูกมะม่วงไว้ ก็นำผลมาขายให้กับกลุ่มฯ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มฯ และสมาชิกในชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดี มีการติดต่อสื่อสารกันสม่ำเสมอ มีการแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำให้คนในชุมชนตระหนักและรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของกลุ่มร่วมกันรักและหวงแหนในภูมิปัญญา ตลอดจนมีการ
ถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลัง
กระบวนการผลิต
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
มะม่วงสุก 50%
มะม่วงดิบ 50%
น้ำตาลทราย
. เกลือ สารส้ม
ราคาขาย กล่องใหญ่ 75 บาท กล่องกลาง 35 บาท กล่องเล็ก 20 บาท กิโลกรัมละ 60 บาท
ขั้นตอนการผลิต

ขั้นตอนที่ 1. นำมะม่วงแก้วที่สุกพอเหลือง ๆ ปอกเปลือกแล้วแช่ลงในน้ำสารส้มที่เตรียมไว้ประมาณ 3 - 5 นาที แล้ว ตักขึ้นมาจากน้ำพร้อมที่จะสับ วิธีการสับก็สำคัญเช่นกันเพราะจะต้องสับให้เส้นสวยไม่ให้เล็กหรือใหญ่เกินไป
ขั้นตอนที่ 2. นำลงใส่กระทะพร้อมน้ำตาลทราย ใส่น้ำไม่มากนักกวนไปเรื่อย ๆ ใช้เวลากวนประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือมะม่วงที่ใช้ควรจะเป็นมะม่วงดิบปนกับมะม่วงสุกกวนผสมกันทำให้"มะม่วงกวนส้มลิ้ม" มีรสเปรี้ยวอมหวาน และสี ของแผ่นมะม่วงกวนก็เป็นสีเหลืองทอง ไม่ดำง่าย เมื่อกวนเสร็จแล้วตักออกใส่ภาชนะที่ทนความร้อน
ขั้นตอนที่ 3. ในเช้าวันรุ่งขึ้น นำมะม่วงกวนตากบนแผ่นพลาสติกใสที่วางบนแผงไม้ วิธีการตากนั้นใช้ช้อนกินข้าวนี่แหละตักไม่ให้เต็มช้อนนักใช้สลัดเป็นจังหวะเป็นแถว ตากอย่างนี้ หนึ่งแดดเต็มแล้วเก็บเข้าร่มโดยมีที่เก็บทำเป็นชั้น ๆ ไว้ พอรุ่งเช้าก่อนจะคว่ำพลาสติกเพื่อลอกมะม่วงออกตากนำฟองน้ำที่สะอาดเช็ดฝุ่นละอองเล็กน้อยแล้วคว่ำลงกับแผงไม้แล้วลอกพลาสติกออก แล้วตากอีกหนึ่งแดดจึงเก็บ การเก็บจะต้องเก็บไว้ในที่ร่มก่อนรอให้เย็นแล้วจึงเก็บใส่ถุงชั่งน้ำหนักที่ต้องการ เช่น หนึ่งกิโลกรัม หรือห้ากิโลกรัม แล้วนำไปขาย แต่สำหรับของกลุ่มแม่บ้านท่าตอจะมีผู้มารับที่บ้านโดยขายทั้งปลีกและส่ง
เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต
ไม่ใช้ผลไม้อื่นผสม ไม่ว่าจะมีราคาแพง ก็ใช้ปริมาณเท่าเดิมเพื่อรักษาคุณภาพรสชาติ ของมะม่วงกวน
ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ
กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ
กลุ่มผู้ผลิต กลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร “มะม่วงกวนส้มลิ้ม”
ที่อยู่ 41/1 3 * * ตำบลท่าตอ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13150
085-1237521 ,035-389464
*
ประธานกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ
นางสมบัติ คงเจริญ
ที่อยู่ 41/1 3 * * ตำบลท่าตอ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13150
085-1237521 ,035-389464
*
แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์
1 ที่ทำการกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร “มะม่วงกวนส้มลิ้ม”
สถานที่ผลิต บ้านท่าตอ เลขที่ 41/1 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าตอ อำเภอมหาราช
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13150
เบอร์โทรศัพท์ 085-1237521 , 035-389464
2. แสดง/จำหน่าย ตามงานต่างๆ เช่นอำเภอเคลื่อนที่ จังหวัดเคลื่อนที่ และงานต่าง ๆ ที่หน่วยงานจัดขึ้นภายในจังหวัด และต่างจังหวัด ฯลฯ