พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ใกล้กับศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หลังเก่า )เยื้องมหาวิทยาลัยราชภัฏ พระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2502 โดยใช้เงินที่ประชาชนเช่า พระพิมพ์ซึ่งขุดได้จาก กรุวัดราชบูรณะที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ( เจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง จึงให้ชื่อว่า " เจ้าสามพระยา" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ เมื่อปีพ.ศ.2504 พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติเจ้าสามพระยา เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีรูปแบบการจัดแสดงแผนใหม่ คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงไม่มากจนแน่นและได้นำ เสนอดูน่าสนใจมาก สภาพอาคารเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์สิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่เคยประดิษฐานในซุ้ม พระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐมซึ่งกรมศิลปากรได้พยายามติดตาม ชิ้นส่วนต่าง ๆขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์พระได้อย่างสมบูรณ์นับว่าเป็น พระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาเปิดให้ชมทุกวัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ตั้งแต่เวลา 09.00 น. - 16.00 น.
ตัวพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย อาคารหลัก 3 อาคาร 1. หมู่อาคารเรือนไทย สร้างคร่อมอยู่บนสระ จัดแสดงเพื่อรักษารูปแบบเรือนไทยแบบภาคกลาง และจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในเรือนอาศัยของคนไทยภาคกลางในอดีต
2. อาคารศิลปะในประเทศไทย เป็นอาคาร 2 ชั้น จัดแสดงศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่รวบรวมได้จากจังหวัดอยุธยา เช่น สมัยทวารวดี (พระพุทธรูปหินประทับยืนบนหัวของพนัสบดี พระพุทธรูปสำริดประทับยืนปางประทานพร) สมัยศรีวิชัย (เศียรพระสำริด) สมัยลพบุรี (พระพุทธรูปสำริดปางประทานพร ปางนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) สมัยสุโขทัย (เครื่องกระเบื้องเคลือบต่าง ๆ โดยเฉพาะตุ๊กตา) สมัยเชียงแสน สมัยอยุธยา (ฐานพระพุทะรูปทำจากดินเผา มีรูปพระแม่ธรณี และเศียรพระพุทธสาวกที่ทำจากดินเผา) สมัยรัตนโกสินทร์ (แผ่นหินอ่อนจำหลักเรื่อง รามเกียรติ์ จากวัดโพธิ์)
3. อาคารตึกเจ้าสามพระยา เป็นอาคารหลักที่สำคัญที่สุด เพราะเก็บศิลปวัตถุอยุธยาชิ้นที่ถือว่าสำคัญ ๆ
ชั้นล่าง
- เศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่จากวัดธรรมิกราช เป็นศิลปะแบบอู่ทอง ซึ่งนอกจากแสดงให้เห็นการบรรลุถึงความงดงามตามลักษณะพุทธศิลป์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถในเรื่องโลหะและการหล่อโลหะของอยุธยา - แนวตู้กระจกทางด้านขวามือของห้องโถงชั้นล่างจัดแสดงพระพุทธรูปหลายสกุลช่าง และหลายแบบที่พบในองค์พระมงคลบพิตร และที่ได้มาจากวัดราชบูรณะ เศษปูนปั้นศิลปะแบบอยุธยาที่ประดับเจดีย์วัดมหาธาตุ (เช่น ครุฑ และสุครีพถอนต้นรัง) พระพุทธรูปศิลาขาว ศิลปะทวารวดี - พระพุทธรูปทวารวดีขนาดใหญ่ ที่เคลื่อนย้ายมาจากวัดหน้าพระเมรุ เช่นเดียวกับพระประธานในวิหารเขียนของวัด ครุฑโขนเรือไม้จำหลัก หน้าพระเมรุ - เครื่องปั้นดินเผาชิ้นขนาดเล็กที่จัดแสดงอยู่อย่างเช่น คนอุ้มเด็กและไก่ ชาวต่างชาติ (ดัทช์) กับสุนัข เป็นต้น - ส่วนแนวด้านซ้ายมือของโถงชั้นล่าง จัดแสดงเครื่องไม้จำหลักต่าง ๆ เช่น ทวารบาล ประตูไม้จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ บานประตูไม้ลายพรรณพฤกษาจากวัดวิหารทอง และหน้าบันไม้จำหลักรูปนารายณ์ทรงสุบรรณแวดล้อมด้วยอสูร เป็นต้น - เชิงบันไดสุดห้องโถง จัดแสดงหัวเรือรูปครุฑไม้แกะสลัก เป็นตัวอย่างของหัวเรือรูปสัตว์ต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ในสมัยอยุธยา
ชั้นบน จัดแสดงข้าวของต่าง ๆ ตั้งแต่เครื่องเคลือบหลายสกุล จากหลายประเทศ เศียรพระและพระพุทธรูป แบบจำลองอาคาร เครื่องปั้นดินเผาภาพพระบฏเขียนสี ธรรมาสน์ไม้แกะสลัก และตู้พระธรรมที่งดงามอยู่หลายใบ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ห้องที่อยู่ปลายโถงทั้งสองอัน ได้แก่
ห้องมหาธาตุ จัดแสดงเครื่องทอง และพระบรมสารีริกธาตุที่พบอยู่กับกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีแผนภาพอธิบายให้เข้าใจถึงลักษณะการประดิษฐานพระธาตุที่ถือกันว่าสำคัญที่สุดของอาณาจักรอยุธยา อีกทั้งยังได้จัดแสดงผอบทั้งเจ็ดชั้นที่บรรจุพระธาตุ และที่สำคัญที่สุดคือ จะได้เห็นองค์พระธาตุอีกด้วย
ห้องราชบูรณะ จัดแสดงศิลปวัตถุที่ค้นพบภายในกรุของวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นทองคำและอัญมณีทั้งหมด อันมีพระแสงขรรค์ชัยศรี แผ่นทองดุนลายนูนประกอบกันเป็นองค์จำลองของตัวพระปรางค์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ขนาดย่อส่วน กรองพระศอ สังวาลทับทรวง สร้อยพาหุรัด ทองพระกร ซึ่งเป็นทองประดับอัญมณี จุลมงกุฎใช้ครอบมุ่นมวยผมของบุรุษ ส่วนของสตรีนั้นเป็นเส้นทองขนาดเล็กมาก ถักเป็นตาข่ายโปร่งครอบศีรษะของสตรี
หมวดเครื่องราชูปโภคย่อส่วน มีทั้งเป็นรูปภาชนะต่าง ๆ เช่น ผอบ กระปุก ถาด พาน หีบ ภาชนะ รูปหงส์ทั้งตัว ตลับขนาดเล็กเป็นแมลงทับและช้างทรงเครื่องนั่งหมอบ ชูงวงเป็นพวงอุบะหรือช่อดอกไม้ เครื่องทองเหล่านี้ นอกจากความงดงามในเชิงศิลปะแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นความมั่งคั่งของราชสำนักอยุธยาอีกด้วย
วีดีโอที่เกี่ยวข้อง
1. 52 ปี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา "ศิลปะโบราณวัตถุจากวัดราชบูรณะ : เครื่องราชูปโภค" >>>
2. 52 ปี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา "ศิลปะโบราณวัตถุจากวัดราชบูรณะ : พระพิมพ์" >>>
3. “กระจกหกด้าน” ตอน “พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา” >>>
4. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา By คนรักประวัติศาสตร์ channel >>>
5. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา By Kittikun Chasutjarit >>>
6. พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา By น้าปุ๊ด ลูกแม่บุญมาลี >>>
7. โบราณวัตถุพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา >>>