ประวัติความเป็นมาของการสร้างเจดีย์ศรีสุริโยทัย
เจดีย์ศรีสุริโยทัยเป็นเจดีย์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้จำลองมาสร้างเป็นเจดีย์ประจำรัชกาลของพระองค์ที่วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ) ซึ่งเป็นเจดีย์องค์หนึ่งในหมู่มหาเจดีย์ 4 รัชกาลแรกของสมัยรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ.2533 ได้มีการบูรณะพระเจดีย์โดยกองบัญชาการทหารสูงสุด และค้นพบช่องบรรจุสิ่งของมีค่าที่ฉาบปูนปิดไว้บริเวณเสาหารเหนือบัลลังก์ วัตถุที่ค้นพบ ได้แก่ พระพุทธรูปหินคว้อทซ์ เจดีย์จำลองทรงระฆังหินคว้อทซ์ เจดีย์จำลองหกเหลี่ยมบรรจุผอบทองฐานปัทม์หกเหลี่ยมดินเผาบุทองหุ้มไว้ ลูกปัด อัญมณี และแผ่นทอง เป็นต้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ห้องมหาธาตุ ในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา
ในพระราชพงศาวดารอยุธยาระบุว่า เจดีย์ศรีสุริโยทัยเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของพระสุริโยทัย อัครมเหสีของพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งได้ปลอมพระองค์เป็นชายอย่างมหาอุปราช เข้าทำศึกสงครามกับกองทัพของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แห่งพม่า ณ ทุ่งภูเขาทอง พระสุริโยทัยถูกฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง จึงได้มีการถวายพระเพลิงพระศพของพระองค์ ในบริเวณสวนหลวงของเขตพระราชวังหลัง แล้วจึงสร้างสถูปเจดีย์นี้ขึ้น รวมทั้งได้มีการอุทิศพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นวัด และให้ชื่อว่า วัดสวนหลวงสบสวรรค์ สวนศรีสุริโยทัยเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น.