หมู่บ้านอรัญญิก ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 และ 7 ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แท้จริงแล้วหมู่บ้านอรัญญิกมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่สองหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านต้นโพธิ์ และบ้านหนองไผ่ ทั้งสองหมู่บ้านมีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะเป็นเเหล่งผลิตมีดที่ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันมาเกือบสองร้อยปี
ย้อนกลับไปในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวบ้านต้นโพธิ์และชาวบ้านไผ่หนอง รกรากถิ่นฐานเป็นชาวเวียงจันทน์ ประเทศลาว ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยซึ่งชาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพทางช่าง มีช่างทำเครื่องประดับทองกับช่างตีเหล็กซึ่งเน้นตีมีด ครั้นต่อมาในราวพ.ศ.2365 อาชีพช่างทองก็ได้เลิกลาสลายตัวไป คงเหลือเเต่อาชีพตีมีดประเภทเดียว ชาวบ้านจึงยึดอาชีพตีมีดเป็นอาชีพหลัก ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นปะปนเลย
ส่วนที่มาของคำว่า “มีดอรัญญิก” นั้น ในสมัยก่อนมีตลาดร้านค้า มีโรงบ่อน อยู่ที่บ้านอรัญญิก ตำบลปากท่า อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านต้นโพธิ์เเละหมู่บ้านไผ่หนองมากนัก ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร มีผู้คนนำสินค้ามาซื้อขายเเลกเปลี่ยนกันมากในยุคนั้นชาวบ้านก็นำเอามีดไปขาย เมื่อคนที่ซื้อไปใช้เห็นว่าคุณภาพดีจึงบอกต่อๆกันไปว่ามีดคุณภาพต้องมีดอรัญญิก เลยเรียกติดปากไปหาซื้อมีดต้องไปที่อรัญญิก ที่จริงเเล้วทำที่หมู่บ้านต้นโพธิ์ หมู่บ้านไผ่หนองเเละหมู่บ้านอื่นๆ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “มีดอรัญญิก”
ปัจจุบัน มีดอรัญญิกยังคงเป็นความภาคภูมิใจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะมีดอรัญญิกนั้นขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแรงทนทาน มีดบางชนิดสามารถใช้ได้นานตลอดชั่วอายุคน อีกทั้งงานใบมีดยังสวยงามประณีต นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอันล้ำค่าที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ณ หมู่บ้านอรัญญิก นักท่องเที่ยวสามารถเข้าพักโฮมสเตย์ภายในท้องถิ่น ชมหัตถกรรมการตีมีด และลองลงมือตีมีดด้วยตนเอง พร้อมเลือกซื้อมีดคุณภาพกลับไปเป็นที่ระลึก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรการทำมีดอรัญญิก
การสงครามป้องกันกรุงศรีอยุธยานั้น อาวุธที่ใช้ในการสู้รบคือดาบจากหมู่บ้านอรัญญิก ด้วยความคมและเหนียวแข็งนั้น จึงทำให้ชื่อดาบอรัญญิกเป็นที่รู้จักกันทั่วไป อาทิตย์นี้ ได้ตามรอย ศูนย์อยุธยาศึกษาไปที่บ้านต้นโพธิ์และบ้านไผ่หนอง ตามหาความเป็นอรัญญิก ว่าเป็นแหล่งขายมีด หรือชุมนักรบในอยุธยา เมื่อมีการสร้างปราสาทนครหลวงขึ้นนั้น ก็เสมือนเป็นพระราชฐานที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางไปนมัสการพระพุทธบาท ดังนั้นหมู่บ้านที่อยู่นอกเขตสำคัญนี้จึงถือเป็นเขตอรัญญิก ด้วยอยู่ที่ปากท่าของแม่น้ำป่าสัก ซึ่งใช้เป็นเส้นทางน้ำสายหลักสำหรับเรือสินค้าจากอีสานใช้ขึ้นล่องไป-มา ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นชุมชนค้าขายใหญ่ ครั้นเมื่อมีการเปิดให้ชาวลาวข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาสร้างบ้านแปลงเมืองในรัชกาลที่ ๑ ด้วยเหตุมีผู้คนอยู่จำนวนน้อยนั้น ชาวลาวส่วนหนึ่งจึงเดินทางล่วงเลยเข้ามาอยู่ที่ริมแม่น้ำป่าสักและตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านต้นโพธิ์และบ้านไผ่หนองของตำบลท่าช้าง ห่างจากบ้านอรัญญิก ๓ กม.ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าชาวลาวกลุ่มนี้ได้อพยพเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งรัชกาลที่ ๒ ประมาณ พ.ศ.๒๓๖๕ ด้วยเวียงจันทน์เกิดอัตคัดขาดแคลน และโจรผู้ร้ายชุกชุม จึงตัดสินใจเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินโดยการทำมีดดังกล่าว ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ออกมาตั้งวังสีทาและป้อมขึ้นที่บริเวณแก่งคอย สระบุรี เพื่อเป็นต้นทางเฝ้าระวังศึกจากแม่น้ำป่าสัก ดาบอรัญญิกน่าจะมีบทบาทในการใช้ป้องกันข้าศึกแถบลุ่มน้ำป่าสักด้วย การตีดาบตีมีดครั้งแรกนั้นน่าจะเกิดจากชาวจีนที่มีความชำนาญมาแต่เดิม ส่วนชาวลาวนั้นได้เรียนรู้การทำตีดาบตีมีดจากบ้านอรัญญิกที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือว่า ชาวเวียงจันทน์อพยพเข้ามานั้นได้นำเครื่องมือเครื่องใช้มาตีมีดตีดาบนั้นเป็นได้ทั้งนั้น ซึ่งเล่าต่ออีกว่าการอพยพครั้งนั้นมีช้าง๒ เชือก ขนสัมภาระมากับขบวนอพยพนั้นด้วย อีกทั้งยังมีช่างทองรูปพรรณตามมาด้วย หากศึกษาถึงมีดอรัญญิกแล้วดูจะเกิดขึ้นในต้นสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง
ในรัชกาลที่ ๕ นั้น พระนางสุขุมาลยศรีพระมาตุฉาเจ้า พระมเหสี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรการทำมีดของชาวบ้านหนองไผ่ที่วัดมเหยงค์ ครั้งนั้นนายเทา(ต้นตระกูล พันธุ์หนอง) หัวหน้าชาวลาวเวียงจันทน์ในขณะนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนราบริรักษ์ เพื่อทำหน้าที่ดูแลปกครองลูกบ้านนั้นอยู่ทำมาหากินด้วยความสามัคคีและรักษาจารีตประเพณีที่ดีงาม
หลังสุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนชาวท่าช้าง ที่มีการผลิตเครื่องมือจากเหล็กตามชื่ออรัญญิก เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ครั้งนั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรการตีมีดและมีพระราชดำริให้เริ่มต้นทำในสิ่งที่บรรพบุรุษได้ทำไว้เป็นสมบัติของชาติ และขอให้มีการพัฒนาให้ดำรงอยู่เป็นเอกลักษณ์ไทยตลอดไป