ข่าวจาก สนง.ประชาสัมพันธ์
แก้หนี้ แก้ได้: 2565 ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน (แก้หนี้นอกระบบ)
25 มกราคม 2566
หนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง คือ ปัญหาหนี้สินครัวเรือน เพื่อลดภาระหนี้ประชาชนรายย่อย ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมให้ครอบคลุมหนี้สินทุกกลุ่ม ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่เผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนลดลง โดยในไตรมาส 2 ของปี 2564 จำนวนหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี รัฐบาลจึงได้กำหนดให้ในปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน
โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชนได้จัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” ร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ และหน่วยงานพันธมิตร 18 หน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งกลุ่มที่มีรายได้ประจำรวมถึงกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน โดยมีกิจกรรมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในช่วงเดือน พ.ย.65 - ม.ค.66
เดินหน้านโยบายปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้
ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน จากปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 14.58 ล้านล้านบาทในปี 2564 โดยอัตราหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มเป็นร้อยละ 90.1 ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนการก่อหนี้สูงเมื่อเทียบกับรายได้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจในระดับโลก โดยตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน” โดยกระทรวงยุติธรรมได้จัดกิจกรรมในพื้นที่ส่วนกลางและใช้กลไกยุติธรรมจังหวัดผ่านมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครัวเรือน 78 ครั้ง สามารถไกล่เกลี่ยหนี้ได้สำเร็จ 72,331 ราย จาก 75,619 ราย คิดเป็น 95.6% ของผู้ไกล่เกลี่ย นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าอื่น ๆ ดังนี้
1.หนี้บัตรเครดิต มีการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลได้ 87,247 ราย ซึ่งได้ลดดอกเบี้ยผ่านคลินิกแก้หนี้ และธนาคารออมสินได้มีโครงการ “บ้านดี หนี้เบา” ในการรวมหนี้ทุกก้อนแล้วใช้บ้านเป็นหลักประกันในการยื่นกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อแก้หนี้ที่ดอกเบี้ยสูง
2.การปรับปรุงโครงสร้าง/ไกล่เกลี่ยหนี้ ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง ปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ 2,250,854 บัญชี คิดเป็นมูลค่า 958,025 ล้านบาท โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาว ช่วยเหลือลูกหนี้ 3.89 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลค่า 2.98 ล้านล้านบาท พร้อมมีการจัดทางด่วนแก้หนี้ ช่วยเหลือสะสมได้ 271,446 บัญชี
3.หนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีผู้ยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้ 3.4 แสนราย จากผู้มีสิทธิยื่น 2 ล้านราย โดยจากนี้ทาง กยศ.จะติดต่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพื่อบรรเทาภาระลูกหนี้ ให้สามารถชำระหนี้ได้ โดยที่ยังมีเงินเพียงพอในการใช้จ่าย
4.หนี้ข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครูและตำรวจ แก้ไขหนี้สำเร็จร้อยละ 64 โดยแก้หนี้ตำรวจได้สำเร็จ 6,145 ราย ขณะนี้ครูมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของข้าราชการครู 41,126 ราย และไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้ 3,623 ราย
จากมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ สู่มหกรรมร่วมใจแก้หนี้
รัฐบาลได้มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาการชำระหนี้เนื่องจากยังไม่สามารถปรับตัวได้แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นหลังการแพร่ระบาดโควิด 19 คลี่คลาย หน่วยงาน ต่าง ๆ ได้มีโครงการช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาการชำระหนี้โดยต่อเนื่อง
สำหรับโครงการที่เพิ่งสิ้นสุดลงไป คือ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ของกระทรวงยุติธรรมที่ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน ดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 65 เป็นต้นมารวม 77 ครั้ง ใน 77 จังหวัด ช่วยเหลือประชาชนทั้งสิ้น 78,520 คน ทุนทรัพย์ 19,487 ล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ 5,905 ล้านบาท
หลังสิ้นสุดโครงการของกระทรวงยุติธรรมแล้ว ประชาชนที่มีปัญหาการชำระหนี้ ยังสามารถเข้าร่วม “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ดำเนินการโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะเป็นการเปิดช่องทางการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งมีสถาบันการเงินทั้งธนาคารและนอนแบงก์ บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เข้าร่วม 56 แห่ง ครอบคลุมสินเชื่อ ทั้งที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์/จักรยานยนต์ จำนำทะเบียน
มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ จะแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ
• ระยะที่ 1 ดำเนินการระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-30 พ.ย. 65 เป็นการไกล่เกลี่ยหนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th หรือติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทรศัพท์ 1213 หรือ E-mail : fcc@bot.or.th
• ระยะที่ 2 จะเป็นการสัญจรไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ระหว่างเดือน พ.ย. 65 - ม.ค. 66 ซึ่งจะมีทั้งการเจรจาแก้ปัญหาหนี้เดิม ให้คำปรึกษาเสริมทักษะด้านการเงิน และให้สินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่จำเป็น ส่วนวัน เวลา สถานที่ที่จะจัดงาน ธปท. และกระทรวงการคลังจะแจ้งให้ทราบต่อไป
นอกจากโครงการไกล่เกลี่ยหนี้แล้วยังมีโครงการช่วยเหลือผู้ที่เป็นหนี้เสีย (NPL) คือ โครงการคลินิกแก้หนี้ ดำเนินการโดย ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ (กคน.) ได้ปรับปรุงเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ใน 2 เรื่อง ได้แก่
1.ปรับเกณฑ์คุณสมบัติการสมัครเข้าร่วมโครงการ ให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPL จากเดิม ก่อนวันที่ 1 เม.ย. 65 เป็นก่อนวันที่ 1 ก.ย. 65 เพื่อรองรับหนี้เสียรายใหม่ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้มากขึ้น
2.ปรับทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้ จากเดิมที่มีทางเลือกเดียวเป็น 3 ทางเลือก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ที่อาจมีศักยภาพชำระหนี้มากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
• ผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี
• ผ่อนชำระนานกว่า 4 ปี แต่ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี
• ผ่อนชำระนานกว่า 7 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสมัครผ่านทางเว็บไซต์ www.คลินิกแก้หนี้.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 1213
กำหนดจัดกิจกรรม ดังนี้
ครั้งที่ 1 วันที่ 4 - 6 พ.ย. 65 ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ
ครั้งที่ 2 วันที่ 18 - 20 พ.ย. 65 ที่ จ.ขอนแก่น
ครั้งที่ 3 วันที่ 16 - 18 ธ.ค. 65 ที่ จ.เชียงใหม่
ครั้งที่ 4 วันที่ 20 - 22 ม.ค. 66 ที่ จ.ชลบุรี
ครั้งที่ 5 วันที่ 27 – 29 ม.ค. 66 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
#แก้หนี้ครัวเรือน #มีหนี้ต้องแก้ไข #เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน #สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
(ข่าวสารจาก facebook)