พาณิชย์หนุนชุมชนขึ้นทะเบียน GI ในโครงการหนึ่งจังหวัด หนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้วางแนวทางพัฒนาสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) หรือทีเรียกสั้น ๆ ว่า สินค้า GI เป็น 3 มิติ ได้แก่ การขึ้นทะเบียน GI การพัฒนาระบบควบคุมสินค้า GI ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และการส่งเสริมการตลาดเพื่อให้มีช่องทางทางการค้าเพิ่มมากขึ้น โดยจะนำผู้ประกอบการไทยนำสินค้า GI เด่น 8 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ ข้าวแต๋นลำปาง ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง และมะขามหวานเพชรบูรณ์ มาร่วมจัดแสดง ณ Thai Geographical Indication Pavilion ในงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-World of Food Asia 2016 ระหว่างวันที่ 25 – 29 พฤษภาคม 2559 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี และกำหนดจัดงาน GI Market 2016 ปลายฝนต้นหนาว ระหว่างวันที่ 15 – 21 กันยายน 2559 ณ เซ็นทรัลพระราม 9 รวมทั้งจัดแสดงสินค้า GI ภายในงานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา (IP Fair 2016) ระหว่างวันที่ 11 – 14 สิงหาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สำหรับแนวทางการพัฒนาสินค้า GI ของกระทรวงพาณิชย์นั้น ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการพัฒนาแบบ 3 มิติ ไปพร้อม ๆ กัน คือ
มิติที่ 1 "การขึ้นทะเบียน GI” โดยส่งเสริมให้เกิดการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศไทยและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการขึ้นทะเบียน พร้อมเข้าไปช่วยเหลือในการขึ้นทะเบียนและคัดเลือกสินค้า GI ที่มีศักยภาพทางการตลาดเพื่อยื่นจดทะเบียนในต่างประเทศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559 ผ้าไหมยกดอกลำพูนได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศอินโดนีเซีย และอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอในประเทศอินเดีย และในปี 2559 นี้ กรมฯ เตรียมยื่นคำขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง และมะขามหวานเพชรบูรณ์ในประเทศจีน ทั้งนี้ โครงการสำคัญในการส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI คือ "โครงการหนึ่งจังหวัด หนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” โดยจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ซึ่งมีสินค้าที่มีศักยภาพเป็น GI สร้างคามรู้ความเข้าใจ และเป็นพี่เลี้ยงในการขึ้นทะเบียน
มิติที่ 2 "การพัฒนาระบบควบคุม” โดยให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาระบบควบคุมการผลิตที่มีมาตรฐาน คุณภาพสม่ำเสมอ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา โดยมีแผนจะผลักดันให้ทุกสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น GI ไทยมีระบบควบคุมภายในของตัวเองให้ครบทุกสินค้าภายในปี 2560
มิติที่ 3 "การตลาด” สร้างโอกาสและจัดพื้นที่จำหน่ายสินค้า เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการสินค้า GI ให้มีโอกาสเข้ามาทำตลาดในโมเดิร์นเทรด รวมทั้งส่งเสริมเผยแพร่ข้อมูลสินค้า GI ตลอดจนช่วยเหลือผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้า GI เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดยุคใหม่เพิ่มมากยิ่งขึ้น โครงการส่งเสริมการตลาดที่สำคัญ อาทิ การนำผู้ประกอบการสินค้า GI เด่น เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-World of Food Asia 2016 ระหว่างวันที่ 25 – 29 พฤษภาคม 2559 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี การจัดงาน GI Market 2016 ปลายฝนต้นหนาว ระหว่างวันที่ 15 – 21 กันยายน 2559 ณ เซ็นทรัลพระราม 9 เพื่อเป็นเวทีสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในการสร้างช่องทางตลาด สร้างเครือข่าย และผู้บริโภคได้มีโอกาสพบกับของดีของแท้ของหายากที่ปกติไม่สามารถหาได้ในท้องตลาดทั่วไป และการส่งเสริมให้แหล่งผลิตสินค้า GI เป็นที่รู้จักและต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
นอกจากนั้น ยังมีแผนงานจัดแสดงสินค้า GI ภายในงานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา (IP Fair 2016) ระหว่างวันที่ 11 – 14 สิงหาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) เป็นเครื่องหมายที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้กับสินค้าที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนตาม พรบ. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 แล้วว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง มีคุณภาพ มีชื่อเสียง แตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตจากพื้นที่อื่น GI จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า GI
ดังนั้น การขึ้นทะเบียน GI จึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของชุมชนพัฒนาพื้นที่ผลิตสินค้า GI เป็นแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น ซึ่งจะนำรายได้มาสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน จนถึงปัจจุบันมีสินค้าไทยที่ได้ขึ้นทะเบียน GI กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์แล้ว จำนวน 67 สินค้า และมีคำขอยื่นจดทะเบียนสินค้า GI ไทย 116 คำขอ
สำหรับคำขอไทยที่ยื่นเข้ามาล่าสุด ได้แก่ ข้าวหอมกระดังงานราธิวาส จังหวัดนราธิวาส กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี จังหวัดราชบุรี แห้วสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี และทุเรียนปราจีน จังหวัดปราจีนบุรี