ไทยเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3
นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3 (HABITAT III) ระหว่างวันที่ 17 – 20 ตุลาคม 2559 ณ กรุงกีโต สาธารณรัฐเอกวาดอร์ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร่วมเป็นคณะผู้แทน
นายไมตรี กล่าวว่า การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างยั่งยืน (HABITAT) เป็นการประชุม ที่จัดขึ้นทุก 20 ปี โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 (HABITAT III) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับประเทศสมาชิกได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง (Political Declaration) ในการรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม "วาระการพัฒนาเมืองใหม่ (New Urban Agenda) หรือเรียกว่า NUA ทั้งนี้ NUA เปรียบเสมือนวิสัยทัศน์ของประชาคมโลกในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างยั่งยืน โดยเน้นคนเป็นศูนย์กลางและครอบคลุมประเด็นการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยที่สำคัญ อาทิ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังความเท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเน้นความสำคัญของกลุ่มเปราะบาง การสร้างความต้านทานและปรับตัวของเมืองเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มอำนาจให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และการเข้าถึงแหล่งการเงินเพื่อการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัย เป็นต้น
นายไมตรี กล่าวต่อว่า การประชุมดังกล่าวมีกิจกรรมที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) การกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนไทย ในนามประธานกลุ่ม 77 (G-77) 2) การประชุมโต๊ะกลมระดับสูง 3) กิจกรรมคู่ขนานและกิจกรรมสร้างเครือข่าย และ 4) การรับรอง "วาระการพัฒนาเมืองใหม่ (New Urban Agenda)” ซึ่งมีความครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมโยงกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และความตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นส่งเสริมบทบาท และอำนาจรัฐบาลท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาเมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ อีกทั้งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการวางพื้นฐานการพัฒนาบนหลักการให้คนเป็นศูนย์กลาง (People-Centered Approach) การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนา (Paradigm Shift) ตลอดจนการให้ความสำคัญกับบทบาทของชุมชน (Community) โดยเฉพาะในส่วนของการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
"การเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3 นี้ ย่อมสร้างความเชื่อมั่น และยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองให้มีความยั่งยืน และเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายที่ 11 เรื่อง"การทำให้เมือง และการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความปลอดภัย ความต้านทาน และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างครอบคลุมและยั่งยืน” อีกทั้งคณะผู้แทนไทยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์ พร้อมทั้งนำเสนอตัวอย่างที่ดีของประเทศไทยเกี่ยวกับพัฒนาการด้านที่อยู่อาศัยและเมืองในระยะ 20 ปี ที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางการดำเนินการตาม NUA เพื่อนำมาขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างบูรณาการของประเทศไทยในระยะยาวต่อไป” นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย